Skip to content

สุนัขสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ

สุนัขได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์มาหลายยุคหลายสมัย แม้ว่าปัจจุบันจะมีการเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดมากขึ้น แต่ก็คงไม่มีสัตว์เลี้ยงชนิดไหนที่กระโจนเข้าหาเราแบบที่ดีใจสุดๆ ปานไม่ได้เจอกันมาเป็นปี หรือพร้อมจะปกป้องเราจนตัวตายเหมือนสุนัข แล้วผู้อ่านเคยสงสัยไหม ว่าความรักใคร่ปานจะร่วมร่างของสุนัขที่มีต่อผู้เลี้ยงอย่างเราๆ มาจากไหน? และอะไร ทำให้ความรักที่สุนัขมีต่อเราถึงได้มากมายขนาดนี้ บทความของ Mythaipet บทความนี้จึงจะพาผู้อ่านทุกท่านไปค้นหาข้อมูลต่างๆของสุนัขว่าซื่อสัตย์ต่อเจ้าของจริงหรือไม่

สุนัขสัตว์เลี้ยงที่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าของ

ความรักที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

ความสงสัยที่ว่าสายสัมพันธ์ระหว่างสุนัขและมนุษย์ ได้เริ่มขึ้นเมื่อไหร่นั้น สิ้นสุดลง เมื่อ Pontus Skoglund  นักพันธุศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้เป็นหัวหน้าคณะสำรวจ พร้อมทีมวิจัย ได้นำเสนอหลักฐานชิ้นสำคัญ

หลักฐานชิ้นนั้นคือ DNA (deoxyribonucleic acid หรือ สารพันธุกรรม) ของสุนัขกว่า 27 ชนิด ที่ใกล้ชนิดกับมนุษย์ จากทั่วทวีปยุโรป เอเชียตะวันออก และแถบไซบีเรีย โดยDNA จำนวนหนึ่ง ถูกค้นพบว่ามีอายุนานกว่า 11,000 ปีมาแล้ว หากนำไปเทียบกับยุคทางประวัติศาสตร์ ก็คือหลังยุคน้ำแข็งไม่นานนั่นเอง!

ทีมวิจัยยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมและพบว่า DNA จำนวน 27 ชนิดนั้น ได้มีความคล้ายเคียงกับ DNA ของสุนัขเลี้ยงหลายสายพันธุ์ ที่เราเลี้ยงกันอยู่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าความสัมพันธ์ของมนุษย์และสุนัขนั้น ยาวนานมากกว่าหมื่นปีแล้ว

นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบหลักฐานที่บ่งชี้ได้ว่า หลักฐานการเลี้ยงสุนัขตั้งแต่หลังยุคน้ำแข็ง นั้นได้ถูกค้นพบเกือบอย่างแพร่หลาย เกือบครึ่งหนึ่งของโลก โดนสมมติฐานของการแพร่กระจายคือ ในยุคนั้นมนุษย์ยังเร่รอน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ในการอพยศแต่ละครั้งจึงหลงเหลือหลักฐาน และสุนัขป่าที่เลี้ยงไว้ ได้ทำการขยายพันธุ์ไปสู่ธรรมชาติในเวลาเดียวกัน จึงเป็นที่มาของการค้นพบว่า DNA ของสุนัขป่าในยุคนั้น มีความใกล้เคียงกับสุนัขที่เราเลี้ยงเอาไว้

สุนัขซื่อสัตย์จากในยีน

หลังจากค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มกลับไปมองหาเหตุผลที่ทำให้สุนัขนั้นอยากใกล้ชิดกับมนุษย์ จึงพบเหตุผลที่สามารถอธิบายไว้ได้อย่างง่ายๆ ว่า

บรรพบุรุษของสุนัข – หรือหมาป่านั้นเป็นสัตว์สังคม และตั้งแต่อดีตหมาป่าบางตัว มีอาการ “มนุษย์จ๋า” มากกว่าหมาป่าทั่วไป จึงมีแนวโน้มที่จะเข้าหามนุษย์มากกว่าและถูกรับเป็นสัตว์เลี้ยงในที่สุด

แต่ไม่หยุดแค่นั้น หมาป่าที่ “มนุษย์จ๋า” นั้น มักจะเข้ากับหมาป่าทั่วไปไม่ได้ หมาป่ากลายพันธุ์กลุ่มนี้เวลาผสมพันธุ์มักจะเลือกหมาป่าที่มีลักษณะนิสัยและความชอบที่ใกล้เคียงกัน มากกว่าผสมพันธุ์กับหมาป่าทั่วไป ด้วยเหตุนี้ยีน “มนุษย์จ๋า” ในหมาป่ากลุ่มนี้ จึงแพร่กระจายและถูกส่ง ต่อมาเรื่อยๆ จนถึงสุนัขยุคปัจจุบัน

แล้วรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขนั้นรักเจ้าของจริงๆ???

ในฐานะที่เป็นเจ้าของสุนัขเหมือนกัน หลายๆ ทีก็แอบสงสัยครับ ว่าเขารักเราจริงๆ ดีใจที่เจอเรา หรือว่าแค่หิวกันแน่ หลังจากไปตามหา นี่คือคำตอบที่ผมได้รับจากมหาวิทยาลัย Emory ครับ

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้ทำการฝึกสุนัขให้นอนอยู่นิ่งๆ ในเครื่อง MRI (Magnetic resonance imaging)  แล้วนำไปวิเคราะห์ด้วยวิธี fMRI (functional magnetic resonance imaging) เพื่อตรวจสอบการตอบสนองของสมองสุนัข ต่อกลิ่นของมนุษย์และกลิ่นสุนัขด้วยกันเอง

ผลก็คือกลิ่นเจ้าของนั้นกระตุ้นความสุขของสุนัข ได้มากกว่าการได้กลิ่นสุนัขด้วยกันเอง และกลิ่นของเจ้าของนั้น ทำให้สุนัขตื่นเต้น และมีความสุขได้มากกว่าสิ่งเร้าอื่นๆ

*ในทางการแพทย์การตรวจ MRI หมายถึง การตรวจร่างกายโดยเครื่องตรวจที่ใช้คลื่นสนามแม่เหล็กความเข้มสูงและคลื่นความถี่ในย่านความถี่วิทยุ ในการสร้างภาพเหมือนจริงของอวัยวะภายในต่างๆของร่างกาย – โรงพยาบาล กรุงเทพ (ภูเก็ต)

** วิธีการ fMRI คือการนำภาพของผลที่ได้จากการทำ MRI มาดัดแปลงด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้แสดงผลจุดต่างๆ ออกมาเป็นสีที่ต่างกัน – โรงพยาบาลสินแพทย์

สาเหตุที่กลิ่นเจ้าของทำให้สุนัขมีความสุข คือ Love hormones

เมื่อมีความรัก สมองของคนเราจะหลั่งฮอร์โมนแห่งรัก หรือที่เรารู้จักกันในนาม Oxytocin (ออกซิโตซิน) ออกมา ฮอร์โมนชนิดนี้ ทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ต้องการจะปกป้อง อยากจะมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายตรงข้าม 

เช่นเดียวกันระหว่างสุนัขและมนุษย์ เมื่อมนุษย์ได้สัมผัสสุนัข ไม่ว่าจะลูบ กอด หรือเล่นด้วย ทั้งสองฝ่ายจะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ออกมา ทำให้รู้สึกมีความสุข อบอุ่น และปลอดภัย เหมือนแม่ที่กอดเด็กทารก

เพราะรัก จึงยอมให้กอด

แท้จริงแล้วสุนัขนั้นไม่ชอบให้เรากอดครับ จากการศึกษาของ ดร.Patricia McConnell นักศึกษาด้านพฤติกรรมสัตว์ ผู้ที่เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสุนัข และทำงานบำบัดด้านพฤติกรรมสุนัขมานานนับสิบปี 

ตลอดการวิจัยและการทำงานของเธอ ทำให้เธอสามารถบอกเราได้ว่า อะไรคือสาเหตุที่สุนัขไม่ชอบให้กอด และเราจะสังเกตได้อย่างไร ว่าสุนัขของเรา โอเคกับการที่เราจะกอดหรือไม่

สาเหตุที่สุนัขไม่ชอบให้กอดนั้น มาจากพฤติกรรมดั้งเดิมของสุนัข เมื่อเราพาสุนัขไปเดินเล่น แล้วสุนัขได้เจอกับตัวอื่นๆ ลองสังเกตดูได้ว่าปกติแล้วสุนัขจะดมกัน เลียกัน เอาหน้าและจมูกไถกัน แต่ไม่มีท่าทางของการยกสองขาขึ้นคร่อมหัวไหล่อีกฝ่าย 

เว้นเสียแต่สุนัขต้องการบอกว่า “ฉันใหญ่กว่า เจ๋งกว่า ต้องฟังคำสั่งฉัน” หรือเรียกว่าการพยายามเป็นจ่าฝูง สุนัขจึงจะใช้สองขายกพาดไหล่อีกฝ่าย เพราะการทำแบบนี้ ทำให้สุนัขที่โดนเหยียบอยู่เคลื่อนไหวได้ลำบากกว่า และอยู่ในสภาพไร้การป้องกันกว่า

ด้วยสาเหตุนั้น การกอดสำหรับสุนัขบางตัว จึงหมายถึงการข่มขู่ ดุ ลงโทษ มากกว่าการแสดงความรัก ถึงกระนั้นไม่ว่าจะไม่ชอบ หรือกลัวแค่ไหน สุนัขก็จะอยู่นิ่งๆ ให้เรากอดมากกว่าผละหรือหนีออกจากเรา เพราะเขารักเราครับ

แต่ก็ไม่ใช่สุนัขทุกตัวที่จะไม่ชอบการกอด สำหรับสุนัขบางตัว เวลาเรากอดเขา เขาก็จะแค่ปล่อยให้เรากอดเฉยๆ ไม่ยินดียินร้าย ส่วนสุนัขที่ชอบให้เรากอดก็มี เช่น สุนัขพันธุ์ซามอยด์ เป็นต้น

แต่เพียงแค่เขาไม่ชอบให้เรากอด ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ต้องการให้เราสัมผัส หรือไม่รักเรานะครับ เพียงแต่สัญชาตญาณดั้งเดิมของเขาเป็นแบบนั้น ทางที่ดีที่สุด คือหมั่นสังเกตสิ่งที่เขาชอบให้เราทำ และสิ่งที่เขาไม่ชอบบ่อยๆ เพื่อเพื่อนที่ดีที่สุดของเรากันครับ

สุนัข

เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าสุนัขของเรารักเรา

สุนัขนั้นรักเราอย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ในฐานะเจ้าของ เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะ? ง่ายมากครับ

สุนัขนั่นเป็นสัตว์ที่นอกจากมีนิสัยซื่อสัตย์แล้ว ยังซื่อตรงอีกด้วย ดังนั้นจึงแสดงความรู้สึกทุกอย่างออกมาหมดเป็นภาษากาย

สังเกตว่าสุนัขรักเราได้ดังนี้

มองตาของเรา – การที่สุนัขจ้องตาเรา หมายถึงเขาพยายามที่จะสื่อสารความคิดของเขาให้เราเข้าใจผ่านสายตา และพยายามทำความเข้าใจอารมณ์ ตวามรู้สึกของเราเช่นกัน

กระดิกหางให้เรา – หางเป็นหนึ่งในส่วนของร่างกายที่แสดงอารมณ์ของสุนัขได้ชัดที่สุด การกระดิกหาง หรือส่ายหางไปมาเร็วๆ นั่นคือการบอกว่าสุนัขกำลังดีใจ และมีความสุข

พยายามเข้ามากอด เอาจมูกมาไถ และเอนซบเรา– การได้สัมผัส ได้กลิ่นมนุษย์ ทำให้ฮอร์โมน Oxytocin หลั่ง น้องหมาจึงมีความสุขทุกครั้งที่ได้สัมผัสเรา

อยากนอนใกล้ๆ เรา – ถ้าจะเปรียบสุนัขเป็นเด็กคนหนึ่ง การได้นอนกับเจ้าของนั้นทำให้รู้สึกอุ่นใจ เหมือนกับลูกนอนกับพ่อแม่ ที่สำคัญคือ จะได้สามารถปกป้องเรา ในยามที่เราอ่อนแอที่สุดได้ด้วย

นำของเล่นมาให้ – สุนัขบางตัวจะมีนิสัยชอบคาบสิ่งต่างๆ มาให้เจ้าของดู นั่นคือเขาอยากเอามาอวดให้เราชม หรือเล่นกับเขานั่นเองครับ

หาวตามเรา – การหาวตามกันนั้น เกิดขึ้นได้ทั้งมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสุนัข สาเหตุที่คนเราหาวตามกันนั้น ยังไม่มีข้อบ่งชี้ชัดเจน แต่สำหรับสุนัขแล้ว การหาวตามเจ้าของหมายถึงสุนัขตัวนั้น มีสายสัมพันธุ์ที่แน่นแฟ้นกับเจ้าของแล้ว 

เดินตามไปส่งเราที่หน้าบ้าน หรือถึงประตูรถ – สุนัขนั้นเป็นสัตว์สังคม การที่มีใคร (หรือตัวใด) แยกออกจากฝูง จะทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย การเดินไปส่ง หรือเดินตาม จึงเป็นการแสดงออกจึงความห่วงใยที่มีให้เจ้าของ ความกลัวที่จะต้องแยกจากกัน และการระวังภัยให้นั่นเอง

มองตามเมื่อเราเดินห่างออกไป – เช่นเดียวกับข้อด้านบน สุนัขบางตัวที่ผ่านการฝึกมาแล้ว หรือไม่สามารถเดินตามได้ จะทำการมองเจ้าของแทน เพราะความห่วงใยและความกลัวที่จะต้องแยกจาก

การกระโจนเข้าใส่เรา – เมื่อเราห่างจากสุนัข สุนัขจะเกิดความกังวล หวาดระแวง ดังนั้นพอได้กลับมาเจอกันอีกครั้งจึงเหมือนการยกภูเขาออกจากอก สุนัขจะได้รับรู้ว่าเราปลอดภัย และจะได้อยู่กับเขาอีกครั้ง พฤติกรรมนี้จึงบอกได้ว่าสุนัขของคุณดีใจสุดๆ ที่ได้เจอเจ้าของ

พยายามเลียเรา – หลายๆ ครั้งเราจะเห็นว่าสุนัขนั้นมีการเลียกันเอง ที่เป็นอย่างนั้น เพราะสุนัขนั้นใช้กลิ่นและการเลียในการสื่อสาร และการเข้าสังคม เมื่อสุนัขเลียเรา จึงหมายความได้ว่าอยากทักทาย และอยากแสดงความรักให้เจ้าของ

ถ้าหากสุนัขของคุณมีอาการตามที่ว่ามาแล้วล่ะก็ ถึงจะไม่ครบทุกข้อ แต่ในฐานะเจ้าของแล้วสบายใจได้เลยครับ ว่าสุนัขของเรานั้น รักเราจริงๆ